หน่วยการเรียนรู้ที่ 1

ภูมิปัญญาไทย

ภูมิปัญญาไทย ตรงกับศัพท์ภาษาอังกฤษว่า Wisdom หมายถึง ความรู้ความสามารถ วิธีการผลงานที่คนไทยได้ค้นคว้า รวบรวม และจัดเป็นความรู้ ถ่ายทอด ปรับปรุง จากคนรุ่นหนึ่งมาสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง จนเกิดผลิตผลที่ดี งดงาม มีคุณค่า มีประโยชน์ สามารถนำมาแก้ปัญหาและพัฒนาวิถีชีวิตได้แต่ละหมู่บ้าน แต่ละชุมชนไทย ล้วนมีการทำมาหากินที่สอดคล้องกับภูมิประเทศ มีผู้นำที่มีความรู้ มีฝีมือทางช่าง สามารถคิดประดิษฐ์ ตัดสินใจแก้ปัญหาของชาวบ้านได้ ผู้นำเหล่านี้ เรียกว่า ปราชญ์ชาวบ้าน หรือผู้ทรงภูมิปัญญาไทย
คุณค่าและความสำคัญของภูมิปัญญาไทย
คุณค่าของภูมิปัญญาไทย ได้แก่ ประโยชน์และความสำคัญของภูมิปัญญา ที่บรรพบุรุษไทยได้สร้างสรรค์ และสืบทอดมาอย่างต่อเนื่องจากอดีตสู่ปัจจุบัน ทำให้คนในชาติเกิดความรักและความภาคภูมิใจ ที่จะร่วมแรงร่วมใจสืบสานต่อไปในอนาคต เช่น โบราณสถาน โบราณวัตถุ สถาปัตยกรรม ประเพณีไทย การมีน้ำใจ ศักยภาพในการประสานผลประโยชน์ เป็นต้น ภูมิปัญญาไทยจึงมีคุณค่าและความสำคัญดังนี้
1. ภูมิปัญญาไทยช่วยสร้างชาติให้เป็นปึกแผ่น
           พระมหากษัตริย์ได้ใช้ภูมิปัญญาในการสร้างชาติ สร้างความเป็นปึกแผ่นให้แก่
ประเทศชาติมาโดยตลอด ตั้งแต่สมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช พระองค์ทรงปกครองประชาชนด้วยพระเมตตาแบบพ่อปกครองลูก ผู้ใดประสบความเดือดร้อนก็สามารถตีระฆังแสดงความเดือดร้อนเพื่อขอรับพระราชทานความช่วยเหลือทำให้ประชาชนมีความจงรักภักดีต่อพระองค์ต่อประเทศชาติ ร่วมกันสร้างบ้านเมืองจนเจริญรุ่งเรืองเป็นปึกแผ่น
สมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระองค์ทรงใช้ภูมิปัญญากระทำยุทธหัตถีจนชนะข้าศึกศัตรู และทรงกอบกู้เอกราชของชาติไทยคืนมาได้
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชการปัจจุบัน พระองค์ทรงใช้ภูมิปัญญาสร้างคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ และเหล่าพสกนิกรมากมายเหลือคณานับ ทรงใช้พระปรีชาสามารถแก้ไขวิกฤติการณ์ทางการเมืองภายในประเทศ จนรอดพ้นภัยพิบัติหลายครั้ง พระองค์ทรงมีพระปรีชาสามารถหลายด้าน แม้แต่ด้านการเกษตร พระองค์ได้พระราชทานทฤษฎีใหม่ให้แก่พสกนิกร ทั้งด้านการเกษตรแบบสมดุลและยั่งยืน ฟื้นฟูสภาพแวดล้อม นำความสงบร่มเย็นของประชาชนให้กลับคืนมา แนว แนวพระราชดำริ “ทฤษฎีใหม่” แบ่งออกเป็น 3 ชั้น โดยเริ่มจาก
          ขั้นตอนแรก ให้เกษตรกรรายย่อย “มีพออยู่พอกิน” เป็นขั้นพื้นฐาน โดยการพัฒนาแหล่งน้ำในในไร่นา ซึ่งเกษตรกรจำเป็นที่จะต้องได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยราชการ มูลนิธิ และหน่วยงานเอกชน ร่วมใจกันพัฒนาสังคมไทย ในขั้นที่สอง เกษตรกรต้องมีความเข้าใจในการจัดการในไร่นาของตน และมีการรวมกลุ่มในรูปสหกรณ์ เพื่อสร้างประสิทธิภาพทางการผลิตและการตลาด การลดรายจ่ายด้านความเป็นอยู่ โดยทรงตระหนักถึงบทบาทขององค์กรเอกชน เมื่อกลุ่มเกษตรวิวัฒน์มา
           ขั้นที่ 2 แล้ว ก็จะมีศักยภาพในการพัฒนาไปสู่
           ขั้นที่ 3 ซึ่งจะมีอำนาจในการต่อรองผลประโยชน์กับสถาบันการเงิน คือ ธนาคาร และองค์กรที่เป็นเจ้าของแหล่งพลังงาน ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งในการผลิตโดยมีการแปรรูปผลิตผล เช่น โรงสี เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตผล และขณะเดียวกันมีการจัดตั้งร้านค้าสหกรณ์เพื่อลดค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันอันเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของบุคคลในสังคมจะเห็นได้ว่า มิได้ทรงทอดทิ้งหลักของความสามัคคีในสังคมและการจัดตั้งสหกรณ์ ซึ่งทรงสนับสนุนให้กลุ่มเกษตรกรสร้างอำนาจต่อรองในระบบเศรษฐกิจจึงจะมีคุณภาพชีวิตที่ดี จึงจัดได้ว่าเป็นสังคมเกษตรที่พัฒนาแล้ว สมดังพระราชประสงค์ที่ทรงอุทิศพระวรกายและพระสติปัญญา ในการพัฒนาการเกษตรไทยตลอดระยะเวลาแห่งการครองราชย์


2. สร้างความภาคภูมิใจ และศักดิ์ศรี เกียรติภูมิแก่คนไทย
            คนไทยในอดีตที่มีความสามารถปรากฏในประวัติศาสตร์มีมาก เป็นที่ยอมรับของ
นานาอารยประเทศ เช่น นายขนมต้มเป็นนักมวยไทยที่มีฝีมือ เก่งในการใช้อวัยวะทุกส่วน ทุกท่าของแม่ไม้มวยไทย สามารถชกมวยไทยจนชนะพม่าได้ถึงเก้าคนสิบคนในคราวเดียวกัน แม้ในปัจจุบันมวยไทยก็ยังถือว่า เป็นศิลปะชั้นเยี่ยม เป็นที่นิยมฝึกและแข่งขันในหมู่คนไทยและชาวต่างประเทศ ปัจจุบันมีค่ายมวยไทยทั่วโลกไม่ต่ำกว่า 30,000 แห่ง ชาวต่างประเทศที่ได้ฝึกมวยไทยจะรู้สึกยินดีและภาคภูมิใจ ในการที่จะใช้กติกาของมวยไทย เช่น การไหว้ครูมวยไทย การออกคำสั่งในการชกเป็นภาษาไทยทุกคำ เช่น คำว่า “ชก” “นับหนึ่งถึงสิบ” เป็นต้น ถือเป็นมรดกภูมิปัญญาไทย นอกจากนี้ ภูมิปัญญาไทยที่โดดเด่นยังมีอีกมากมาย เช่น มรดกภูมิปัญญาทางภาษาและวรรณกรรม โดยที่มีอักษรไทยเป็นของตนเองมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย และวิวัฒนาการมาจนถึงปัจจุบัน วรรณกรรมไทยถือว่าเป็นวรรณกรรมที่มีความไพเราะ ได้อรรถรสครบทุกด้าน วรรณกรรมหลายเรื่องได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศหลายภาษา
ด้านอาหาร อาหารไทยเป็นอาหารที่ปรุงง่าย พืชที่ใช้ประกอบอาหารส่วนใหญ่เป็นพืชสมุนไพร ที่หาได้ง่ายในท้องถิ่นและราคาถูก มีคุณค่าทางโภชนาการ และยังป้องกันโรคได้หลายโรค เพราะส่วนประกอบส่วนใหญ่เป็นพืชสมุนไพร เช่น ตะไคร้ ขิง ข่า กระชาย ใบมะกรูด ใบโหระพา ใบกระเพรา เป็นต้น


3. สามารถปรับประยุกต์หลักธรรมคำสอนทางศาสนาใช้กับวิถีชีวิตได้อย่างเหมาะสม
             คนไทยส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ โดยนำหลักธรรมคำสอนของศาสนามาปรับใช้ใน
วิถีชีวิตได้อย่างเหมาะสม ทำให้คนไทยเป็นผู้อ่อนน้อมถ่อมตน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ประนีประนอม รักสงบ ใจเย็น มีความอดทน ให้อภัยแก่ผู้สำนึกผิด ดำรงวิถีชีวิตอย่างเรียบง่ายปกติสุข ทำให้คนในชุมชนพึ่งพากันได้ แม้จะอดอยากเพราะแห้งแล้ง แต่ไม่มีใครอดตาย เพราะพึ่งพาอาศัยกัน แบ่งปันกันแบบ “พริกบ้านเหนือเกลือบ้านใต้” เป็นต้น ทั้งหมดนี้สืบเนื่องมาจากหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา เป็นการใช้ภูมิปัญญาในการนำเอาหลักของพระพุทธศาสนามาประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวัน และดำเนินกุศโลบายด้านต่างประเทศ จนทำให้ชาวพุทธทั่วโลกยกย่องให้ประเทศไทยเป็นผู้นำทางพุทธศาสนา และเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (พสล.) อยู่เยื้อง ๆ กับอุทยานเบญจสิริ กรุงเทพมหานคร โดยมีคนไทย (ฯพณฯ สัญญา ธรรมศักดิ์ องคมนตรี) ดำรงตำแหน่งประธาน พสล. ต่อจาก ม.จ.หญิงพูนพิศมัย ดิศกุล


4. สร้างความสมดุลระหว่างคนในสังคมและธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน
             ภูมิปัญญาไทยมีความเด่นชัดในเรื่องของการยอมรับนับถือ และให้ความสำคัญแก่
คน สังคม และธรรมชาติอย่างยิ่ง มีเครื่องชี้ที่แสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนมากมาย เช่น ประเพณีไทย 12 เดือนตลอดทั้งปี ล้วนเคารพคุณค่าของธรรมชาติ ได้แก่ ประเพณีสงกรานต์ ประเพณีลอยกระทง เป็นต้น ประเพณีสงกรานต์เป็นประเพณีที่ทำในฤดูร้อนซึ่งมีอากาศร้อน ทำให้ต้องการความเย็น จึงมีการรดน้ำดำหัว ทำความสะอาดบ้านเรือนและธรรมชาติสิ่งแวดล้อม มีการแห่นางสงกรานต์การทำนายฝนว่าจะตกมากหรือน้อยในแต่ละปี ส่วนประเพณีลอยกระทง คุณค่าอยู่ที่การบูชาระลึกถึงบุญคุณของน้ำ ที่หล่อเลี้ยงชีวิตของคน พืช และสัตว์ ให้ได้ใช้ทั้งบริโภคและอุปโภคในวันลอยกระทง คนจึงทำความสะอาดแม่น้ำ ลำธาร บูชาแม่น้ำ จากตัวอย่างข้างต้น ล้วนเป็นความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสังคมและธรรมชาติทั้งสิ้น
ในการรักษาป่าไม้ต้นน้ำลำธาร ได้ประยุกต์ให้มีประเพณีการบวชป่า ให้คนเคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ธรรมชาติ และสภาพแวดล้อม ยังคงความอุดมสมบูรณ์แก่ต้นน้ำ ลำธาร ให้ฟื้นสภาพกลับคืนมาได้มาก
อาชีพการเกษตรเป็นอาชีพหลักของคนไทยที่คำนึงถึงความสมดุล ทำแต่น้อยพออยู่พอกินแบบ “เฮ็ดอยู่เฮ็ดกิน” ของพ่อทองดี นันทะ เมื่อเหลือกินก็แจกญาติพี่น้อง เพื่อนบ้าน บ้านใกล้เรือนเคียง นอกจากนี้ ยังนำไปแลกเปลี่ยนกับสิ่งของอย่างอื่นที่ตนไม่มี เมื่อเหลือใช้จริง ๆ จึงจะนำไปขาย อาจกล่าวได้ว่า เป็นการเกษตรแบบ “กิน-แจก-แลก-ขาย” ทำให้คนในสังคมได้ช่วยเหลือเกื้อกูล แบ่งปันกัน เคารพรักนับถือ เป็นญาติกันทั้งหมู่บ้าน จึงอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข มีความสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น ธรรมชาติไม่ถูกทำลายไปมากนัก เนื่องจากทำพออยู่พอกิน ไม่โลภมากและไม่ทำลายทุกอย่างผิดกับในปัจจุบัน ถือเป็นภูมิปัญญาที่สร้างความสมดุลระหว่างคน สังคม และธรรมชาติ


5. เปลี่ยนแปลงปรับปรุงได้ตามยุคสมัย
               แม้ว่ากาลเวลาจะผ่านไป ความรู้สมัยใหม่จะหลั่งไหลเข้ามามาก แต่ภูมิปัญญาไทยก็
สามารถปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับยุคสมัย เช่น การรู้จักนำเครื่องยนต์มาติดตั้งกับเรือ ใส่ใบพัดเป็นหางเสือ ทำให้เรือสามารถแล่นได้เร็วขึ้น เรียกว่า เรือหางยาว การรู้จักทำการเกษตรแบบผสมผสาน สามารถพลิกฟื้นคืนธรรมชาติให้อุดมสมบูรณ์แทนสภาพเดิมที่ถูกทำลายไป การรู้จักออมเงิน สะสมทุนให้สมาชิกกู้ยืม ปลดเปลื้องหนี้สิน และจัดสวัสดิการแก่สมาชิก จนชุมชนมีความมั่นคง เข้มแข็ง สามารถช่วยตนเองได้หลายร้อยหมู่บ้านทั่วประเทศ เช่น กลุ่มออมทรัพย์
คีรีวง จังหวัดนครศรีธรรมราชจัดในรูปกองทุนหมุนเวียนของชุมชน จนสามารถช่วยตนเองได้
เมื่อป่าถูกทำลายเพราะถูกตัดโค่นเพื่อปลูกพืชแบบเดี่ยวตามภูมิปัญญาสมัยใหม่ที่หวังร่ำรวย แต่ในที่สุดก็ขาดทุนและมีหนี้สิน สภาพแวดล้อมสูญเสีย เกิดความแห้งแล้ง คนไทยจึงคิดปลูกป่าที่กินได้ มีพืชสวน พืชป่า ไม้ผล พืชสมุนไพร ซึ่งสามารถมีกินตลอดชีวิตเรียกว่า “วนเกษตร” บางพื้นที่เมื่อป่าชุมชนถูกทำลาย คนในชุมชนก็รวมตัวกันเป็นกลุ่มรักษาป่า ร่วมกันสร้างระเบียบกฎเกณฑ์กันเอง ให้ทุกคนถือปฏิบัติได้ สามารถรักษาป่าได้อย่างสมบูรณ์ดังเดิม
เมื่อปะการังธรรมชาติถูกทำลาย ปลาไม่มีที่อยู่อาศัย ประชาชนสามารถสร้าง “อูหยัม” ขึ้นเป็นปะการังเทียม ให้ปลาอาศัยวางไข่และแพร่พันธุ์ให้เจริญเติบโตมีจำนวนมากดังเดิมได้ถือเป็นการใช้ภูมิปัญญาปรับปรุงประยุกต์ใช้ได้ตามยุคสมัย



การพัฒนาสังคมด้านภูมิปัญญา
                     ปี พ.ศ.2551 เป็นอีกปีหนึ่งที่เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยไม่ใช่โชติช่วงชัชวาล ทั้งนี้เป็นผลมาจากผลกระทบจากหนี้ด้อยคุณภาพของประเทศสหรัฐอเมริกา (ซับไพรม์) ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ถีบตัวสูงขึ้น ปัญหาความขัดแย้งและก่อการร้ายในหลายภูมิภาค รวมทั้งภาวะโลกร้อนที่ก่อให้เกิดมหันตภัยต่าง ๆ ประเทศไทยนอกจากจะได้รับผลกระทบระดับโลกแล้ว ยังมีผลสืบเนื่องจากการปฏิวัติในประเทศด้วย ปัญหาความแตกแยกทางความคิดและอุดมการณ์ทางการเมือง คนไทยต้องเผชิญปัญหาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ความมั่นคง และสิ่งแวดล้อมนานัปการ อยู่ในสภาพ “ข้าวยาก หมากแพง” รายได้คงที่หรือลดลงแต่ค่าครองชีพสูงขึ้น ปัญหาอาชญากรรม และความไม่สงบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของเยาวชน ผู้พิการ ผู้สูงอายุ และผู้เดือดร้อนเพิ่มจำนวนมากขึ้นรัฐบาลได้ประกาศทิศทางการพัฒนาประเทศออกมาว่าจะนำโครงการประชานิยมที่เคยทำในอดีตมาใช้และประชาชนจำนวนมากก็แสดงออกผ่านการทำโพลล์ของสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ว่า ประสงค์ให้รัฐบาลนำโครงการประชานิยมที่เคยทำสมัยรัฐบาลไทยรักไทยกลับมาอีกครั้งโครงการประชานิยมที่พูดถึงกันได้แก่ โครงการหวยบนดิน บ้านเอื้ออาทร กองทุนหมู่บ้าน กองทุนพัฒนาหมู่บ้าน เอส เอ็ม แอล โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค โครงการโคล้านตัว โครงการเรียนระดับพื้นฐานฟรีและกู้ยืมเงินเรียนในระดับที่สูงขึ้น โครงการพักชำระหนี้เกษตรกร โครงการพัฒนาสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าวิสาหกิจชุมชน โครงการป้องกันปราบปรามยาเสพติด ฯลฯ นอกจากนี้ รัฐบาลยังจะออกนโยบาย/ยุทธศาสตร์ ส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อหารายได้จากนักท่องเที่ยวให้มากขึ้น มีเป้าหมายเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศจาก 14 เป็น 20 ล้านคนใน 3 ปี มีการลงทุนภาครัฐขนาดใหญ่ พัฒนาสนามบินนานาชาติ สนามบินในภูมิภาค รวมทั้งการพัฒนาโครงข่ายรถไฟความเร็วสูง รถไฟรางคู่ ขยายระบบขนส่งมวลขนใน กทม. และปริมณฑลและเน้นการค้าเสรี การส่งออก การปล่อยเงินกู้เพื่อเน้นการค้า การลงทุน การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ การส่งแรงงานออกไปทำงานต่างประเทศ โดยสามารถกู้ยืมเงินก่อนได้ การกระจายการถือครองที่ดิน โดยออกเอกสารสิทธิ ปรับปรุงระบบอินเตอร์เนตความเร็วสูงให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ฯลฯ แนวทางการพัฒนา และโครงการส่วนใหญ่ยึดแนวคิดเรื่อง การทำให้ทันสมัย เน้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นหลัก โดยการกระตุ้นทั้งการลงทุนและการบริโภค มากกว่าการพัฒนามิติอื่น ๆ ให้เติบโตเคียงคู่กันไปอย่างบูรณาการ โดยที่โครงการส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจในช่วงเวลา 5 ปี ที่ผ่านมา รัฐบาลทุกชุดต่างพยายามประชาสัมพันธ์ รณรงค์ เรื่อง การทำความดีถวายเป็นพระราชกุศลในวโรกาสสำคัญต่าง ๆ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รวมทั้ง บรรจุเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นแนวทางหลักในการพัฒนาประเทศซึ่งมีสาระสำคัญอยู่ที่การใช้ชีวิตอย่างมีเหตุผล พอประมาณ และต้องสร้างภูมิคุ้มกันตลอดเวลา ควบคู่ไปกับ การใช้ภูมิปัญญา และคุณธรรม เป้าหมายของการบริหารงานของทุกรัฐบาลก็คือ ความกินดี อยู่ดี หรือมีคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน อยากให้คนมีความสุข มีรายได้มั่นคง กินดี อยู่ดี มีสุขภาพดี ครอบครัวอบอุ่น มีชุมชนเข้มแข็ง และสังคมอยู่เย็นเป็นสุข มีความสมานฉันท์ และเอื้ออาทรต่อกัน ในด้านการพัฒนาทางสังคมนั้น อาจกล่าวได้ว่า ทำไปเพื่อให้คนมีความมั่นคงของมนุษย์ด้านต่าง ๆ หรือมีความมั่นคงทางสังคมนั่นเอง
การช่วยเหลือทางสังคม
                   ความมั่นคงทางสังคม หมายรวมถึง การช่วยเหลือทางสังคม (social assistance) ได้แก่ การให้การสงเคราะห์เฉพาะหน้างานและงานสังคมสงเคราะห์แก่ผู้เดือดร้อน ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ เช่น คนพิการ คนที่ถูกทอดทิ้ง คนชรา คนไร้บ้าน คนป่วยเรื้อรัง เด็กกำพร้า ฯลฯ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้เดือดร้อนเหล่านั้นสามารถช่วยตนเองได้ในที่สุด หรือแก้ไขปัญหาที่เข้าประสบอยู่ได้ ไม่ต้องมาหวังพึ่งความช่วยเหลือจากผู้อื่นอีกในอนาคต หากการช่วยเหลือประเภทนี้ ทำได้ไม่ดีพอ หรือไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งนอกจากจะเป็นภาระของผู้ให้การช่วยเหลือแล้ว ก็ยังทำให้ผู้รับรู้สึกด้อยคุณค่าหรือศักดิ์ศรีในตนเองด้วย ความช่วยเหลือนี้เป็นกระบวนการทางธรรมชาติ เริ่มต้นจากคนในครอบครัว และในชุมชนช่วยเหลือญาติพี่น้อง เพื่อนฝูงกันเอง เมื่อมีความรุนแรงมากขึ้น หรือเมื่อครอบครัว ชุมชนไม่สามารถให้การช่วยเหลือได้อย่างพอเพียง รัฐก็จะเข้ามาให้การสนับสนุน หรือหากยังจัดได้ไม่ทั่วถึง ก็มีองค์กรสาธารณประโยชน์/องค์กรพัฒนาเอกชนเข้ามาช่วยเหลือ ในกรณีที่ผู้เดือดร้อนประสบปัญหาที่มีความสลับซับซ้อน จำเป็นต้องอาศัยความช่วยเหลืออย่างถูกหลักวิชาการ หรือแบบมืออาชีพจากนักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา จิตแพทย์ หรือนักกายภาพบำบัด นักอาชีวะบำบัด ฯลฯ ซึ่งรัฐและ/หรือองค์กรสาธารณประโยชน์บางแห่งอาจจัดบริการให้
การให้บริการทางสังคม
                   การให้บริการทางสังคม (social services) หมายถึง การที่รัฐจัดบริการบางอย่างให้ตามความต้องการและสิทธิของประชาชน เช่น การศึกษา ที่อยู่อาศัย แหล่งนันทนาการ การรักษาพยาบาล การรักษาความปลอดภัย และพิทักษ์สิทธิ หากรัฐทำไม่ทั่วถึง ชุมชน และ/หรือองค์กรสาธารณประโยชน์อาจจัดกันเองก็ได้ เช่น กรณีที่พระสงฆ์เคยทำหน้าที่ให้การศึกษา ชุมชนจัดศูนย์กลางการเรียนรู้ ชุมชนมีหมอยา หรือหมอกลางบ้านคอยรักษาทั้งทางกายและใจให้แก่ผู้ป่วย โรงเรียน โรงพยาบาลของภาคธุรกิจเอกชนที่จัดบริการโดยคิดค่าใช้จ่าย


การประกันสังคม
                  การประกันสังคม (social insurance) ได้แก่ การสร้างหลักประกันในการดำเนินชีวิตในกลุ่มของสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อรับผิดชอบในการเฉลี่ยความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการเจ็บป่วย คลอดบุตร ตาย ทุพพลภาพ สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และการว่างงาน เพื่อให้ได้รับการรักษาพยาบาล และมีรายได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นระบบที่มีขนาดใหญ่ ทั้งนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐมีส่วนร่วมออกเงินสมทบในกองทุนประกันสังคมนี้ รัฐจึงต้องเข้ามามีส่วนในการบริหารจัดการในระยะเริ่มแรก แต่ในหลายกรณี เช่น ระบบฌาปนกิจประเภทต่าง ๆ ก็มีการจัดโดยรัฐวิสาหกิจ (เช่น ธนาคารเพื่อการเกษ๖รและสหกรณ์การเกษตร) และชุมชนเอง นอกจากนี้ ภาคธุรกิจเอกชนยังได้มีบทบาทในการแบกรับความเสี่ยงส่วนหนึ่งของคนด้วยการรับประกันภัยและประกันชีวิตจากลูกค้าผู้ยินยอมและมีความสามารถในการซื้อกรมธรรม์ประกันภัย




ประเภทของภูมิปัญญา
1. ภูมิปัญญาด้านคติธรรม ความคิด ความเชื่อ หลักการที่เป็นพื้นฐานขององค์ความรู้ที่เกิดจากการสั่งถ่ายทอดกันมา
2. ภูมิปัญญาด้านศิลปวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีที่เป็นแบบแผนการดำเนินชีวิตที่ปฏิบัติสืบทอดกันมา
3. ภูมิปัญญาด้านการประกอบอาชีพในท้องถิ่น ที่ยึดหลักการพึ่งตนเองและได้รับการพัฒนาให้เหมาะสมกับกาลสมัย
4. ภูมิปัญญาด้านแนวความคิด หลักปฏิบัติ และเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่ชาวบ้านนำมาดัดแปลงใช้ในชุมชนอย่างเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและความเป็นอยู่
นอกจากนี้ยังมีการกำหนดสาขาภูมิปัญญาไทย เพื่อนำภูมิปัญญาไทยมาใช้ในการเรียนรู้และส่งเสริมโดยแบ่งภูมิปัญญาออกเป็น 10 สาขา ดังนี้
1. สาขาเกษตรกรรม หมายถึง ความสามารถในการผสมผสานองค์ความรู้ ทักษะ และเทคนิคด้านการเกษตรกับเทคโนโลยี โดยการพัฒนาบนพื้นฐานคุณค่าดั้งเดิม สามารถพึ่งพาตนเองในสภาวการณ์ต่าง ๆได้ เช่น การทำการเกษตรแบบผสมผสาน การแก้ปัญหาการเกษตรการแก้ปัญหาด้านการผลิต ด้านการตลาด เช่น การแก้ไขโรคและแมลง การรู้จักปรับใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับการเกษตร เป็นต้น
2.สาขาอุตสาหกรรมและหัตถกรรม (ด้านการผลิติและการบริโภค) หมายถึง การรู้จักประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการแปรรูปผลผลิตเพื่อชะลอการนำเข้าตลาดเพื่อแก้ปัญหาด้านการบริโภคอย่างปลอดภัย ประหยัด และเป็นธรรม อันเป็นขบวนการใช้ชุมชนท้องถิ่นสามารถพึ่งตนเองทางเศรษฐกิจได้ ตลอดทั้งการผลิตและการจำหน่ายผลผลิตทางหัตถกรรม เช่น การรวมกลุ่มของกลุ่มโรงงานยางพารากลุ่มโรงสีกลุ่มหัตถกรรม เป็นต้น
3.สาขาการแพทย์แผนไทย หมายถึง ความสามารถในการจัดการป้องกันและรักษาสุขภาพของคนในชุมชน โดยเน้นให้ชุมชนสามารถพึ่งตนเองทางสุขภาพและอนามัยได้
4. สาขาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติละสิ่งแวดล้อม หมายถึงความสามารถเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งการอนุรักษ์ พัฒนาและใช้ประโยชน์จากคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน
5. สาขากองทุนและธุรกิจชุมชน หมายถึง ความสามารถในการบริหารจัดการ ด้านการสะสมและบริหารกองทุนและธุรกิจชุมชน ทั้งที่เป็นเงินตราและโภคทรัพย์ เพื่อเสริมสร้างชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของสมาชิกในชุมชน
6.สาขาสวัสดิการ หมายถึง ความสามารถในการจัดการสวัสดิการในการประกันคุณภาพชีวิตของคนให้เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจสังคม และวัฒนธรรม
7. สาขาศิลปกรรม หมายถึง ความสามารถในการผลิตผลงานทางศิลปะสาขาต่าง ๆเช่น จิตรกรรม ประติมากรรม วรรณกรรม ทัศนศิลป์ คีตศีลป์ เป็นต้น
8.สาขาการจัดการ หมายถึง ความสามารถในการบริหารการจัดการดำเนินงานด้านต่าง ๆทั้งองค์กรชุมชน องค์ทางศาสนา องค์กรทางการศึกษา ตลอดทั้งองค์กรทางสังคมอื่น ๆในสังคมไทย เช่น การจัดการองค์กรของกลุ่มแม่บ้าน ระบบผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชน การจัดศาสนสถาน การจัดการศึกษา ตลอดทั้งการจัดการเรียนการสอน เป็นต้น กรณีการจัดการศึกษาเรียนรู้นับได้ว่าเป็นภูมิปัญญาสาขาการจัดการที่มีความ สำคัญ เพราะการจัดการศึกษาเรียนรู้ที่ดี หมายถึง กระบวนการเรียนรู้ พัฒนาและถ่ายทอดความรู้ทางภูมิปัญญาไทยที่มีประสิทธิผล
9.สาขาภาษาและวรรณกรรม หมายถึง ความสามารถสร้างผลงานทางด้านภาษา ทั้งภาษาโบราณ ภาษาไทยและการใช้ภาษา ตลอดทั้งด้านวรรณกรรมทุกประเภท
10.สาขาศาสนาและประเพณี หมายถึง ความสามารถประยุกต์และปรับใช้หลักธรรมคำสอนทางศาสนา ความเชื่อ และประเพณีดั้งเดิมที่มีค่าให้ความเหมะสมต่อการประพฤติปฏิบัติ 




คลิกทำข้อสอบ